ข้อมูลชี้วัดการเติบโตทางเศรษฐกิจ
การทำความเข้าใจการเติบโตทางเศรษฐกิจสามารถบอกให้คุณทราบว่าเศรษฐกิจกำลังเติบโตอย่างสม่ำเสมอหรือมีแนวโน้มที่จะถดถอย เราจะอธิบายวิธีทำความเข้าใจข้อมูลที่ประกาศซึ่งสัมพันธ์กับการเติบโตทางเศรษฐกิจและผลที่ข้อมูลเหล่านี้มีต่อกลยุทธ์การเทรดของคุณ
ในเดือนที่ระบุตามปฏิทิน จะมีการประกาศข้อมูลเศรษฐกิจหลายตัวซึ่งจะบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจเป็นอย่างไร ทั้งนี้ ข้อมูลชี้วัดที่แพร่หลายที่สุดก็คือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) นอกจากนี้ เทรดเดอร์จะพิจารณาข้อมูลชี้วัดตัวอื่นๆ ที่สามารถบ่งชี้ถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)
GDP คือยอดรวมของสินค้าและบริการที่ประเทศหนึ่งผลิตขึ้นโดยคำนวนจากระยะเวลาหนึ่งปี เปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงตั้งแต่หนึ่งปีจนถึงปีถัดไปก็คือการเติบโตของ GDP ซึ่งธนาคารกลางจะนำไปใช้เพื่อคำนวณสภาวะเศรษฐกิจ
GDP จะประกาศเป็นรายไตรมาสและมักมีการอ่านค่าแยกกันสามครั้ง ปกติแล้ว การอ่านค่าครั้งแรกจะมีผลกระทบสูงสุด แม้การปรับประมาณการในการอ่านค่าภายหลังจะเกิดขึ้นบ่อยก็ตาม เพราะค่าครั้งแรกมีแนวโน้มที่จะประกาศออกมาสองหรือสามสัปดาห์หลังจบไตรมาส และเป็นประมาณการคร่าวๆ อย่างรวดเร็วโดยใช้ข้อมูลที่จำเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของการประเมินโดยละเอียด
หลังจากนั้น การอ่านค่าครั้งที่สองจะประกาศประมาณอีกหนึ่งเดือนให้หลังและประมาณการประมาณ 70% ของเศรษฐกิจ ซึ่งจะแม่นยำกว่าการอ่านค่าในครั้งแรกมาก
การอ่านค่า GDP ครั้งที่สามและครั้งสุดท้ายจะประกาศประมาณสองเดือนครึ่งหลังจบไตรมาส โดยจะถือว่ามีความแม่นยำมากที่สุดเนื่องจากหน่วยงานที่ดูแลด้านสถิติจะมีเวลารวบรวมข้อมูลทั้งหมดที่จำเป็น อย่างไรก็ตาม เรื่องสำคัญก็คืออาจมีการปรับประมาณการ GDP ที่แท้จริงเพิ่มเติมอีก
GDP มีผลต่อตลาดเงินอย่างยิ่ง โดยจะกระทบต่อค่าเงินและตลาดตราสารหนี้ของประเทศเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม บางทีผลกระทบจะลดลงเล็กน้อยตามข้อเท็จจริงที่ว่าข้อมูลจะได้รับการพิจารณาโดยดูย้อนหลังตามสมควร ทั้งนี้ การอ่านค่าต้องใช้เวลาหลายเดือนจึงจะแม่นยำตามสมควรและ ณ เวลานั้นก็จะจบไตรมาสถัดไปแล้วดังที่ได้กล่าวถึงก่อนหน้านี้ ดังนั้น เทรดเดอร์จึงจะให้ความสำคัญกับข้อมูลการสำรวจเป็นอย่างมาก
ข้อมูลชี้วัดที่สำคัญ
การเติบโตของ GDP รายไตรมาส
เศรษฐกิจที่จะต้องติดตาม ได้แก่ GDP สหรัฐฯ และ GDP จีน
ถึงแม้ GDP จะได้รับการดูย้อนหลัง (การอ่านค่าข้อมูลรายไตรมาสครั้งแรกก็เกือบจะเก่ากว่าหนึ่งเดือน) แต่ธนาคารกลางยังคงให้ความสำคัญกับ GDP โดยใช้ประเมินสภาวะเศรษฐกิจเป็นประจำ
การสำรวจดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ: (ประกาศในสัปดาห์แรกหลังสิ้นเดือน)
ติดตาม PMI ภาคการผลิตของ ISM, PMI นอกภาคการผลิตของ ISM รวมถึง PMI ของจีนและยูโรโซนเป็นพิเศษ การสำรวจ PMI (ภาคการผลิตและภาคบริการ) ถือเป็นการประกาศข้อมูลสำคัญ โดยจะเป็นการประกาศข้อมูลสำคัญตัวแรกของทุกเดือนและเนื่องจากเป็นตัวเลขที่คาดการณ์ล่วงหน้า จึงถือเป็นการประเมินโอกาสในการเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อมูลชี้วัดอื่นๆที่ต้องพิจารณา ได้แก่:
- รายงานยอดสั่งซื้อสินค้าจากโรงงานและยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน
- ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม/การใช้กําลังผลิตของภาคอุตสาหกรรม
การสำรวจดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI)
PMI เป็นการสำรวจที่ดำเนินการในแต่ละเดือนเพื่อให้ได้รับข้อมูลคร่าวๆ เกี่ยวกับความแข็งแกร่งของภาคเศรษฐกิจ PMI ภาคการผลิตเป็นตัวเลขที่ได้รับการติดตามอย่างกระตือรือร้นที่สุดและจะประกาศในวันทำการเทรดวันแรกของเดือน ธุรกิจต่างๆ มีแนวโน้มที่จะมีปฏิกิริยาต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะตลาดอย่างรวดเร็วและผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของธุรกิจก็อาจมีการมองการณ์ไกลด้านเศรษฐกิจของบริษัทที่ชัดเจนและเป็นปัจจุบันที่สุด
PMI จะรวบรวมโดยการสอบถามผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของบริษัทต่างๆ ทั่วประเทศ โดยจะมีการถามผู้ตอบว่าธุรกิจดีขึ้น คงที่ หรือแย่ลงในอุตสาหกรรมของพวกเขา ทั้งนี้ การสำรวจจะครอบคลุมหัวข้อต่างๆ ห้าหัวข้อที่สำคัญต่อธุรกิจ ได้แก่:
- การผลิต
- คำสั่งซื้อใหม่
- ยอดจัดส่งของผู้ผลิต
- สินค้าคงคลัง
- อัตราการจ้างงาน
การนำข้อมูลทั้งหมดมารวมกันจะให้มุมมองต่อภาคในภาพรวมที่ประกอบขึ้นจากหลายๆ ส่วน
เหตุใดจึงต้องติดตาม PMI
ข้อมูลการสำรวจจะได้มาจากภาคการผลิตและภาคบริการ (และในกรณีของสหราชอาณาจักรจะเป็นภาคการก่อสร้าง) เมื่อรวมกันแล้ว ข้อมูลทั้งหมดนี้จะกลายเป็น Composite PMI ทั้งนี้ ข้อมูลที่ประกอบขึ้นจากหลายๆ ส่วนมักจะเชื่อมโยงกับการคาดการณ์ข้อมูลการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตของประเทศในเชิงบวกอย่างแข็งแกร่ง
ข้อมูล PMI ถือเป็นข้อมูลชี้วัดชั้นนำ จึงสำคัญสำหรับธนาคารกลางเมื่อจะตัดสินใจเรื่องนโยบายการเงิน ดังนั้นในฐานะเทรดเดอร์ คุณควรให้ความสนใจอย่างกระตือรือร้นเช่นเดียวกัน
PMI เป็นดัชนีที่มีการอ่านค่าระหว่าง 0 ถึง 100 โดย:
- 50 เป็นระดับปานกลาง ซึ่งชี้แนะว่าผู้ตอบมีคำตอบเชิงบวกและเชิงลบสมดุลกัน
- สูงกว่า 50 แสดงถึงการขยายตัวของภาคนั้นๆ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
- ต่ำกว่า 50 แสดงถึงการหดตัวของภาคนั้นๆ
จำนวนที่สูงกว่า 55 ตีความได้ว่าภาคดังกล่าวกำลังแข็งแกร่ง ขณะที่ต่ำกว่า 45 จะถือเป็นการชี้วัดถึงความอ่อนแออย่างยิ่ง
เคล็ดลับสำคัญ: ตัวเลขไม่ได้แสดงเพียงระดับ PMI แต่ยังแสดงทิศทางของเครื่องมือชี้วัดเช่นเดียวกับข้อมูลชี้วัดทางเศรษฐกิจต่างๆ
เคล็ดลับระดับแนวหน้า
ตัวเลขไม่ได้แสดงเพียงระดับ PMI แต่ยังแสดงทิศทางของเครื่องมือชี้วัดเช่นเดียวกับข้อมูลชี้วัดทางเศรษฐกิจต่างๆ
ใครที่รวบรวมการสำรวจ
- Markit ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ให้บริการทางการเงิน คือผู้ให้บริการข้อมูล PMI ดั้งเดิมโดยสำรวจในนานาชาติมากกว่า 30 ประเทศ
- ในสหรัฐฯ ผู้ให้บริการข้อมูลสำคัญก็คือ Institute of Supply Management (ISM) ถึงแม้ Markit จะประกาศข้อมูลของตนเองในสหรัฐฯ เช่นกัน
- ในจีน รัฐบาลดำเนินการสำรวจอย่างเป็นทางการ ขณะที่ Caixin (ผู้สนับสนุนในจีนของ Markit) ดำเนินการอย่างไม่เป็นทางการ ทั้งนี้ ตลาดจะพิจารณาตัวเลขทั้งคู่ว่ามีความสำคัญเนื่องจากข้อมูลของรัฐบาลมีแนวโน้มที่จะครอบคลุมบริษัทขนาดใหญ่กว่า ขณะที่ข้อมูลของ Caixin จะโฟกัสที่ธุรกิจขนาดเล็กและเอสเอ็มอีมากกว่า
ผลกระทบที่ข้อมูลชี้วัดการเติบโตมีต่อตลาดเงิน
เศรษฐกิจที่แสดงเทรนด์การเติบโตอย่างแข็งแกร่ง (ทั้งข้อมูลในอดีตโดย GDP และการคาดการณ์ล่วงหน้าโดย PMI) จะมีอิทธิพลแบบ Hawkish ต่อนโยบายการเงินของธนาคารกลาง ดังนั้นการเติบโตที่แข็งแกร่งจะ:
- เป็นผลบวกต่อค่าเงินของประเทศ – โดยเพิ่มโอกาสเกิดอัตราเงินเฟ้อและเป็นปฏิกิริยาที่ทำให้เกิดความต้องการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลาง
- เป็นผลบวกต่อผลตอบแทนตราสารหนี้ – โดยเพิ่มโอกาสในการเติบโตและการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในอนาคตเช่นเดียวกับค่าเงิน แต่อุปสงค์ของตราสารหนี้ในภาวะเช่นนี้จะต่ำเนื่องจากถือว่ามีความเสี่ยงลดลง
- ทำให้หุ้นในประเทศแข็งแกร่ง – ตลาดที่แข็งแกร่งขึ้นจะเพิ่มโอกาสให้บริษัทที่เน้นการทำธุรกิจในประเทศ นอกจากนี้ หุ้นจะปรับตัวได้ดีขึ้นเนื่องจากมีความสนใจลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น